เนเปียร์ หญ้าสร้างอนาคต ใช้ทั้งเลี้ยงสัตว์ ได้ทั้งพลังงาน
“พลังงานสีเขียว หรือพลังงานบนดิน ถือเป็นทางเลือกใหม่ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการขาดแคลนพลังงานของประเทศไทย ซึ่งวัตถุดิบที่สามารถนำมาใช้เพื่อผลิตเป็นพลังงานสีเขียวที่มีการพูดมากที่สุดในขณะนี้คือ หญ้าเนเปียร์ แต่การใช้หญ้าเนเปียร์ที่แต่เดิมปลูกเพื่อเป็นอาหารสัตว์ มาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเป็นพลังงานทดแทน จึงเป็นอีกหนึ่งคำถามที่เกิดขึ้นในขณะนี้”
คุณสุวิทย์ กิ่งแก้ว อุปนายกสมาคมศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกกล่าวถึงหนึ่งในเหตุผลที่มาของการจัดเสวนา หัวข้อ “หญ้าเนเปียร์ พืชพลังงาน-อาหารสัตว์ ขุมทองใหม่ ของเกษตรกรไทย จริงหรือ?” ร่วมกับคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ณ คอนเวนชั่นฮอลล์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ถนนแจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี เมื่อเร็วๆ นี้
ทั้งนี้ในการเสวนาดังกล่าว ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการปลูกหญ้าเนเปียร์และในส่วนของด้านพลังงานมาร่วมเป็นวิทยากร ประกอบด้วย ดร. ไกรลาศ เขียวทอง นักวิชาการชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชอาหารสัตว์นครราชสีมา กองอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ คุณสุเทพ เหลี่ยมเจริญศิริ ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน และผศ.ดร. พฤกษ์ อักกะรังสี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โดย ดร. ไกรลาศ เขียวทอง นักวิชาการชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชอาหารสัตว์นครราชสีมา กองอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ กล่าวว่า หญ้าเนเปียร์ถือว่าเป็นหญ้ามหัศจรรย์ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ใน 2 รูปแบบ คือ หนึ่ง เป็นพืชอาหารสัตว์ และ สอง ใช้ในด้านการผลิตพลังงาน
“หญ้าเนเปียร์ให้ผลผลิตประมาณ 80 ตัน ต่อไร่ ต่อปี สามารถตัดได้ 8 ครั้ง ต่อปี โดยพืชที่ปลูกหญ้า 1 ไร่ จะสามารถตัดใบมาใช้เลี้ยงโคได้ประมาณ 5-6 ตัว โดยในการลงทุนปลูกหญ้าเนเปียร์ 1 ครั้ง จะสามารถเก็บเกี่ยวได้นานประมาณ 10 ปี โดยมีต้นทุนต่อไร่ประมาณ 5,000-6,000 บาท ดังนั้น เมื่อคิดจากการเก็บเกี่ยวได้นานถึง 10 ปี ต่อการปลูก 1 ครั้ง จึงทำให้มีต้นทุนในการปลูกต่ำมาก”
สำหรับการปลูกในแง่ของการนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านพลังงาน ไม่ว่า การปลูกเพื่อผลิตเป็นไฟฟ้าหรือก๊าซชีวภาพ ควรปลูกในพื้นที่ราบ ได้รับแสงได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในการปลูกหญ้าเพื่อตัดมาใช้ประโยชน์นั้น สามารถตัดได้ทุก 45 วัน โดยปีหนึ่งตัดได้ประมาณ 7 ครั้ง ผลผลิตต่อไร่ ต่อครั้งการตัด ประมาณ 10 ตัน
แต่การปลูกหญ้าเนเปียร์ให้ได้ผลผลิตดีนั้น ดร. ไกรลาศ ย้ำว่า ต้องปลูกโดยอยู่ภายใต้การจัดการตามหลักวิชาการ จึงจะประสบความสำเร็จ สามารถมีผลผลิตต่อไร่สูง
สำหรับสายพันธุ์หญ้าเนเปียร์ที่กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในปัจจุบันเป็นสายพันธุ์ที่กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการวิจัยปรับปรุงสายพันธุ์ขึ้นมาใหม่ โดยมีชื่อว่า หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 โดย ดร. ไกรลาศ บอกว่า เป็นสายพันธุ์ลูกผสมที่เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างหญ้าเนเปียร์ยักษ์และหญ้าไข่มุก เป็นพืชอาหารสัตว์ที่มีศักยภาพสูงทั้งในแง่การให้ผลผลิตและมีคุณค่าทางอาหารที่ดีตามที่สัตว์ต้องการ เหมาะสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้อง ไม่ว่า โคนม โคเนื้อ กระบือ แพะ และแกะ
ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้สนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกหญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 กันอย่างแพร่หลายทั่วประเทศไทย โดยได้มีเทคนิคแนะนำให้เกษตรกรที่ปลูกสามารถลดต้นทุนการปลูกลงให้ได้มากที่สุด นับตั้งแต่เทคนิคการจัดการเรื่องการเตรียมดิน เพื่อให้สามารถปลูกขึ้นได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ด้วยการใช้เครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงานคน ทำให้ต้นทุนลดลงมาก รวมถึงเครื่องตัดและการขนส่งผลผลิตออกจากแปลงปลูกได้เลย โดยถ้ามีการดำเนินการตามเทคนิคที่แนะนำด้วยการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเข้ามาช่วยแบบที่กรมปศุสัตว์ทำ จะทำให้ต้นหญ้าเนเปียร์ต่อตัน ไม่เกิน 150 บาท เท่านั้น และข้อสำคัญอีกประการคือ ปลูกครั้งเดียวสามารถอยู่ได้ 10 ปี ต้นทุนจึงไม่สูง
“หญ้าเนเปียร์ในแง่ของการปศุสัตว์แล้วถือว่าเป็นขุมทองอย่างแน่นอน” ดร. ไกรลาศกล่าว
ด้าน ผศ.ดร. พฤกษ์ อักกะรังสี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงการนำหญ้าเนเปียร์มาผลิตเป็นพลังงานว่า หญ้าเนเปียร์นั้นถือเป็นชีวมวลประเภทหนึ่ง ซึ่งการนำหญ้าเนเปียร์มาผลิตเป็นพลังงานนั้น เนื่องจากเป็นหญ้าที่มีเยื่อใยสูง และมีความชื้นสูง ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า สามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานได้ทั้งการนำไปเผาตรงหลังจากผ่านกระบวนการลดความชื้นแล้ว และการนำไปหมักเป็นก๊าซชีวภาพหรือมีเทน
“เมื่อนำมาผลิตเป็นไฟฟ้าแล้ว จะได้ปริมาณในที่ไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ว่า ในสภาพพื้นที่นั้นเหมาะสมจะใช้กระบวนการใดในการผลิตมากกว่า ในส่วนของการวิจัยด้านต่างๆ ได้ทำเรียบร้อยเพื่อรองรับแล้วหลายเรื่อง ไม่ว่าการผลิตก๊าซ CBG เป็นต้น” ผศ.ดร. พฤกษ์ กล่าวและว่า
“สำหรับข้อจำกัดของการนำหญ้าเนเปียร์มาผลิตเป็นพลังงานนั้น คงต้องมองที่เรื่องของราคาค่าหญ้าเนเปียร์ เพราะจากตัวเลขของค่าผลิตไฟฟ้า จากหญ้าเนเปียร์ 1 ตัน ผลิตไฟฟ้าได้ 200 หน่วย ราคาหน่วยละ 3.50 บาท เป็นเงิน 700 บาท ยังไม่ได้หักค่าดำเนินการต่างๆ จึงเป็นคำถามที่ต้องตอบว่า ต้นทุนเป็นเท่าไรอย่างไร”
ผศ.ดร. พฤกษ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันที่สถาบันได้มีการทดลองอย่างหลากหลาย และได้ผลสำเร็จ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงแล้วหลายอย่าง ไม่ว่าการผลิตก๊าซ CBG ซึ่งสามารถใช้ทดแทนก๊าซ NGV เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายงานวิจัยที่กำลังดำเนินการและคาดว่าจะเห็นผลไม่นานนี้
ในขณะที่ คุณสุเทพ เหลี่ยมเจริญศิริ ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ให้มุมมองว่า หญ้าเนเปียร์นั้นสามารถเป็นขุมทองไปสู่การเป็นพืชพลังงานได้ แต่การที่จะก้าวไปถึงจุดดังกล่าวนั้น ยังเป็นเรื่องยากและต้องมีขั้นตอนอีกมากมาย
“ปัญหาด้านพลังงานของประเทศไทยที่พบมากที่สุดในด้านไฟฟ้าคือ เราพึ่งพาการผลิตพลังงานจากก๊าซธรรมชาติมากถึง ร้อยละ 70 ซึ่งทุกวันนี้ประเทศไทยอยู่ในรูปแบบที่พลังงานไฟฟ้านั้นเพียงพอ แต่ไม่มั่นคง เราจึงมองถึงพลังงานทดแทน โดยเฉพาะจากผลผลิตทางการเกษตร”
“หนึ่งในพืชที่น่าสนใจที่สามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนได้ดีคือ ต้นข้าวโพด โดยที่ประเทศเยอรมนีเป็นประเทศที่ได้ไปศึกษาดูงานมา ได้เน้นการใช้ข้าวโพดเป็นหลัก แต่ในเมืองไทยถ้านำต้นข้าวมาใช้ก็จะเกิดปัญหาได้ จึงมอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินโครงการศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการผลิตก๊าซชีวภาพจากหญ้าชนิดต่างๆ ในประเทศไทย จำนวน 20 ชนิด พบว่า หญ้าเลี้ยงช้างในตระกูลหญ้าเนเปียร์ ซึ่งเกษตรกรที่จังหวัดลำปางปลูกเพื่อใช้เป็นอาหารช้างสามารถนำมาผลิตได้ก๊าซมีเทน มากกว่าหญ้าชนิดอื่นๆ ถึง 7 เท่า”
“ดังนั้น พืชพลังงาน จึงเป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบสำคัญที่จะนำเข้ามาสู่กระบวนการผลิตไบโอก๊าซเพื่อใช้ในประเทศไทย หลังจากที่อดีตนั้นได้เน้นการผลิตไบโอก๊าซจากน้ำเสียและมูลสัตว์ รวมไปถึงปาล์มน้ำมันและมันสำปะหลัง ถ้ามองโอกาสในแง่ของการเป็นขุมทองได้หรือไม่ ด้วยต้นทุนของหญ้าเนเปียร์ขนาดนี้ และศักยภาพการปลูก การลงทุนและการเก็บเกี่ยวผลผลิต จึงถือได้ว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยทำให้ประเทศไม่ต้องสูญเสียงบประมาณเพื่อการซื้อพลังงานต่างๆ เข้ามาใช้ในประเทศไทย”
ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวต่อไปว่า สำหรับการนำหญ้าเนเปียร์มาเพื่อไบโอก๊าซเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้าให้ได้ 1 เมกกะวัตต์ นั้น คาดว่าจะต้องใช้หญ้าเนเปียร์ประมาณ 500-600 ไร่ ซึ่งตามแผนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ที่กระทรวงพลังงานได้ตั้งเป้าไว้นั้น ใน 20 ปีต่อไปนี้ ต้องการประมาณ 10,000 เมกกะวัตต์ นั่นคือ ต้องการพื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ประมาณ 5 ล้านไร่ ขึ้นไป
“ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มมีการผลิตก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยให้ได้เงินทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงานให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ร่วมกับภาคเอกชนในการตั้ง ขนาด 6 ตัน ขึ้นที่อำเภอแม่แตง โดยได้ทำสัญญาซื้อ-ขาย กับ ปตท. แล้ว พร้อมกันนี้ได้ทำแผนเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ให้กระทรวงพลังงานดำเนินการโครงการนำร่องใน 12 พื้นที่ งบประมาณ 300 ล้านบาท และขยายต่อไป”
“ทุกวันนี้เราต้องนำเงินของประเทศไปซื้อก๊าซ ซื้อน้ำมัน จากต่างประเทศเข้ามาใช้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าภูมิใจ แต่ถ้าสามารถปลูกพืชพลังงานแล้วนำมาใช้ทดแทนการนำเข้าจะเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คงต้องมาจากความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย” คุณสุเทพ กล่าวในที่สุด
* * * * * *