ทางปาล์มน้ำมันใช้เลี้ยงสัตว์
ทางปาล์มน้ำมันใช้เลี้ยงสัตว์ - กรมปศุสัตว์แนะเกษตรกรนำทางปาล์มน้ำมันมาใช้เลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้อง อาทิ โค แพะ รวมทั้งสามารถนำไปใช้เป็นเสบียงสัตว์สำรองในกรณีเกิดภัยธรรมชาติได้เป็นอย่างดีทางปาล์มน้ำมัน (Oil palm frond) คือ ส่วนของใบและก้านใบของต้นปาล์มน้ำมันนับเป็นผลพลอยได้จากการปลูกปาล์มน้ำมัน เกษตรกรจะต้องตัดใบล่างที่รองรับทะลายปาล์มน้ำมันก่อนการเก็บเกี่ยว หรือโค่นต้นทิ้งเพื่อปลูกใหม่เมื่อต้นปาล์มน้ำมันมีอายุ 15 – 20 ปี โดยทั่วไปเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวทะลายปาล์มน้ำมันทุกๆ 15 – 20 วัน เฉลี่ยแล้วทุกเดือนจะมีการตัดทางใบปาล์มน้ำมันออกอย่างน้อย 2 ทางใบต่อต้นหรือคิดเป็น 44 ทางใบต่อไร่ (อัตราปลูก 22 ต้นต่อไร่) ในหนึ่งปีเกษตรกรจะตัดทางใบปาล์มน้ำมันประมาณ 18 ครั้ง โดยหนึ่งทางปาล์มน้ำมันจะมีน้ำหนัก 5 กิโลกรัม คิดคำนวณเป็นน้ำหนักสดของทางปาล์มน้ำมัน 3,960 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี หรือโดยเฉลี่ยแล้วผลผลิตทางปาล์มน้ำมันสดได้ 10.8 กิโลกรัมต่อไร่ต่อวัน
องค์ประกอบทางโภชนะของทางปาล์มน้ำมันประกอบด้วย โปรตีน 5% เยื่อใย 38.5% ไขมัน 2.1% แป้งและน้ำตาล 46.2% และเถ้า 3.2% ก้านใบปาล์มน้ำมันมีโปรตีน 2.21% และส่วนของใบปาล์มน้ำมันจะมีโปรตีนประมาณ 10% จะเห็นได้ว่าทางปาล์มน้ำมันสามารถนำไปเป็นแหล่งอาหารหยาบสำหรับเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้องได้ และสำหรับแนวทางการนำทางปาล์มน้ำมันมาใช้เป็นอาหารในสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น โค แพะ มีอยู่ 3 แบบ ได้แก่
แบบที่ 1 ให้กินสด โดยนำมาแขวนในคอกหรือนำมาหั่น เสริมด้วยอาหารข้น
แบบที่ 2 ให้กินในรูปหมัก โดยนำทางปาล์มน้ำมันมาผ่านกระบวนการหมักก่อนนำไปใช้เลี้ยงสัตว์ เสริมด้วยอาหารข้น ระดับที่เหมาะสมในการใช้ทางปาล์มหมักเลี้ยงสัตว์ ในโคเนื้อ 50% และในโคนมและแพะ 30%
แบบที่ 3 ให้กินในรูปอาหารผสมสำเร็จรูป (Total mixed ration) โดยนำทางปาล์มน้ำมันสด หรือหมักผสมร่วมกับวัตถุดิบต่างๆ
ในปี พ.ศ.2551 ประเทศไทยมีเนื้อที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 3,622,778 ไร่ เนื้อที่ให้ผลผลิต 2,872,836 ไร่ ผลผลิต 9,028,135 กิโลกรัม และในปี พ.ศ.2552 เนื้อที่ให้ผลผลิตทั้งประเทศประมาณ 3,195,140 ไร่ คาดว่าให้ผลผลิต 9,433,262 กิโลกรัม จะเห็นได้ว่าการนำทางปาล์มน้ำมันมาใช้เลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น โค แพะ เป็นการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีประมาณ 30,000 ตันต่อวัน หรือประมาณ 11,000,000 ตันต่อปี หากไม่นำมาใช้เลี้ยงสัตว์ก็จะถูกทิ้งในสวนปาล์มน้ำมัน แต่หากนำมาใช้ประโยชน์เป็นอาหารหยาบสำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้อง จะสร้างมูลค่าในรูปแบบเพิ่มผลผลิตอาหารโปรตีนราคาถูกในตัวสัตว์ รวมทั้งสามารถนำไปใช้เป็นเสบียงสำรองในกรณีเกิดภัยธรรมชาติได้เป็นอย่างดี และปัจจุบันกำลังได้รับความสนใจจากเกษตรกรนำมาใช้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากเป็นแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันของประเทศไทย
* * * * * *
ผู้สนับสนุน